วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

ตำนานเมืองจันท์ (Legends of Chanthaburi)



ตำนานเมืองจันท์


จังหวัดจันทบุรี เป็นเมืองภาคตะวันออกที่ติดชายฝั่ง เป็นชุมชนโบราณเก่าแก่มีอายุมากกว่า 1,000 ปี ยังมีร่องรอยอารยธรรมโบราณของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 4,000-6,000 ปี หลักฐานที่ปรากฏทั้งด้านมานุษวิทยาศิลปะและประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐาน การเติบโตอย่างกว้างขวางในท้องถิ่น การขยายตัวติดต่อค้าขายกับต่างถิ่น การรับและถ่ายทอดการผสมผสานทางวัฒนธรร ซึ่งมีการพัฒนามายาวนานจนกระทั่งเป็นเมืองจันทบุรีในปัจจุบัน



จังหวัดจันทบุรี เป็นจังหวัดทางชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย ทิศเหนือติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว และปราจีนบุรี ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดตราดและราชอาณาจักรกัมพูชา ทิศใต้ติดกับอ่าวไทย และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดระยองและชลบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 245 กิโลเมตร สภาพพื้นที่มีทั้งป่าไม้ ภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบลุ่มน้ำ และที่ราบชายฝั่งทะเล


จันทบุรี เดิมชื่อ"เมืองจันบูร" มีความหมายว่าเมืองพระจันทร์ ซึ่งหมายความถึงความสงบร่มเย็นเป็นสุข ดังนั้นธงประจำจังหวัดจันทบุรี จึงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 80 ซม. ยาว 120 ซม. ผืนธงสีแดง มุมด้านซ้ายมือของธงประกอบด้วย ดวงตราประจำจังหวัดอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นสีน้ำเงินเป็นรูปกระต่ายอยู่ในดวงจันทร์เปล่งแสงประกายเจิดจ้า แสงจันทร์หมายถึงความสวยงามเยือกเย็นละมุนละไมเปรียบได้กับความสงบร่มเย็นเป็นสุขของภูมิภาคนี้


ตำนานของเมืองจันท์ เรื่องเมืองกาไว และพระนางกาไว ตำนานนี้มีผู้เล่าสืบต่อกันมาว่า กษัตริย์ผู้ครองนครโบราณ(ชื่อนครอะไรไม่ปรากฏ แต่เป็นเมืองบริเวณเชิงเขาสระบาป คือเมืองดั้งเดิมของจันทบุรี) พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าพรมทัต(บางคนก็ว่าทรงพระนาม เจ้าบริพงษ์วงษ์สุริยาฆาต) มีพระโอรสกับพระเอกอัครมเหสี 2 พระองค์ พระเชษฐา(ผู้พี่)ทรงพระนามว่า พระไวยทัต และพระอนุชา(ผู้น้อง)ทรงพระนามว่า เกตุทัต ต่อมาพระเอกอัครมเหสีทรงสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงได้ทรงพระอภิเษกมเหสีองค์ใหม่ ทรงพระนามว่า พระนางกาไว ซึ่งทรงพระสิริพิลาศสิริโฉมงดงาม จึงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพรมทัตยิ่งนัก และมีพระโอรสด้วยกัน 1 พระองค์


พระนางกาไว มีระประสงค์จะให้โอรสของนางได้ครองราชสมบัติในนคร(จันทบุรี)จึงได้ทูลขอให้พระเจ้าพรมทัตส่งโอรสของพระมเหสีเดิมออกไปสร้างเมืองอยู่ในท้องที่กันดารทางเหนือเขตแดนต่อ(ชายแดน เขต อ.โป่งน้ำร้อนปัจจุบัน) ทั้ง 2พระองค์ พระเจ้าพรมทัตก็ตามใจ ต่อมาเมื่อพระเจ้าพรมทัตสวรรคต พระนางกาไวจึงสถาปนาพระราชบุตรของพระนางขึ้นเป็นกษัตริย์ครองนครต่อไป ส่วนพระนางก็เป็นผู้สำเร็จราชการ เพราะพระราชบุตรยังทรงพระเยาว์อยู่ ดังนั้นนครนครนี้จึงเรียกติดปากว่า"เมืองกาไว"


ต่อมาพระไวยทัตและพระเกตุทัต รู้เรื่องพระบิดาสวรรคตและพระนางกาไวครอบครองเมือง จึงยกกองทัพลงมาเพื่อจะชิงเมืองคืน แต่สู้กำลังกองทัพของพระนางกาไวไม่ได้ จึงถอยทัพกลับไป และได้ไปขอกำลังจากกษัตริย์ขอม ซึ่งประทับอยู่ ณ นครธม มาช่วยแก้แค้นโดยสัญญาว่า เมื่อได้เมืองแล้วจะแบ่งเมืองให้ ซึ่งกษัตริย์ขอมก็ได้ส่งกองทัพมาช่วย คราวนี้ได้ยกมาตั้งพลับพลาพักพลอยู่นอกเมือง ตำบลที่พักพลนี้เรียกว่า "ตำบลพลับพลา" ซึ่งเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อส่งคนไปเจรจาไม่ได้ผล กองทัพของพระไวยทัตและขอมก็เข้าตีเมือง พระนางกาไวเห็นว่าสู้ไม่ได้ จึงขนพระราชทรัพย์ขึ้นหลังช้างที่เพนียด (ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดเพนียดร้าง) เปิดประตูเมืองทางด้านทิศใต้หนีไป พอกองทัพของพระไวยทัตเข้าเมืองได้ก็ให้ทหารออกติดตามไป พระนางกาไวเห็นว่าจวนตัวก็เอาทองและเพชรพลอยออกหว่านเพื่อล่อให้ทหารข้าศึก มัวพะวงเก็บทอง แล้วรีบลงเรือแล่นหนีไป สถานที่พระนางกาไวหว่านทองคำไว้เรียกว่า "ทองทั่ว" หรือวัดทองทั่วในปัจจุบัน (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544:96-97)

ขอบพระคุณที่มาของข้อมูลและรูปภาพประกอบครับ