วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว


อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอเมือง อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอขลุง และอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย และมีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ คือ น้ำตกพลิ้วที่สวยงาม มีน้ำตกตลอดปี เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดจันทบุรีประมาณ 14 กิโลเมตร ถนนลาดยางตลอดสายทำให้สะดวกสบายในการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ มีเนื้อที่ประมาณ 134.50 ตารางกิโลเมตร หรือ 84,062.50 ไร่


ความเป็นมา : ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าเขาสระบาป จังหวัดจันทบุรี และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ ในขั้นแรกกรมป่าไม้ได้กำหนดพื้นที่ที่ดินป่าน้ำตกพลิ้ว-เขาสระบาป ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2505 ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช 2481 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2504 และในปี พ.ศ. 2515 ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงบริเวณน้ำตกพลิ้ว จัดตั้งเป็นวนอุทยานน้ำตกพลิ้ว อยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานป่าไม้จังหวัดจันทบุรี


ในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2517 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2517 ได้มีมติให้รีบดำเนินการประกาศพื้นที่ป่าที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 เป็นอุทยานแห่งชาติโดยเร็ว และจังหวัดจันทบุรีได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ จบ.09/1401 ลงวันที่ 31 มกราคม 2517 ขอให้กรมป่าไม้ส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำวนอุทยานน้ำตกพลิ้ว เพื่อปรับปรุงให้เป็นไปตามหลักการจัดการวนอุทยาน ประกอบกับในปี 2517 กองอุทยานแห่งชาติมีแผนงานจัดบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ดังนั้นในเดือนมีนาคม 2517 กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งที่ 360/2517 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2517 ให้นายสินไชย บูรณะเรข นักวิชาการป่าไม้ตรี และนายประชุม ตัณยะบุตร พนักงานโครงการชั้น 2 ไปทำการสำรวจหาข้อมูลบริเวณป่าน้ำตกพลิ้ว เขาสระบาป ในท้องที่จังหวัดจันทบุรี ปรากฏว่า บริเวณดังกล่าวประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นต้นน้ำลำธาร เช่น น้ำตก หน้าผา ถ้ำ ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กส 0708(อส)/7 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2517


กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในคราวประชุมครั้งที่ 6/2517 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2517 เห็นชอบให้กำหนดที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำตกพลิ้ว-เขาสระบาป ในท้องที่ตำบลพลับพลา ตำบลคลองนารายณ์ ตำบลคมบาง อำเภอเมืองจันทบุรี ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม และตำบลมาบไพ ตำบลวังสรรพรส ตำบลตรอกนอง ตำบลซึ้ง ตำบลตะปอน ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 87 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2518 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 11 ของประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า " อุทยานแห่งชาติเขาสระบาป "


ต่อมานายผจญ ธนมิตรามณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสระบาป ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0708 (สบ)/พิเศษ ลงวันที่ 1 มีนาคม 2525 ขอเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติเขาสระบาปเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เนื่องจากน้ำตกพลิ้วเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามตามธรรมชาติเป็นจุดเด่นของ อุทยานแห่งชาติ เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและประชาชนโดยทั่วไปเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2525 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2525 เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อเป็น " อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว "

น้ำตกพลิ้วเป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงาม มีน้ำตลอดปี ประกอบด้วยสายธาร 2 สาย สายหนึ่งไหลลดหลั่นผ่านซอกหินผา อีกสายหนึ่งมีขนาดเล็กกว่า แต่ทิ้งตัวลงมาจากผาสูง 20 เมตร ทั้งสองสายไหลมารวมกันในแอ่งน้ำใสสะอาด มากสามารถมองเห็นพื้นล่างซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินและทรายในระดับลึกกว่า 2 เมตร ภายในบริเวณน้ำตกและลำคลองมีปลาใหญ่น้อยหลายชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นที่ตื่นตาตรึงใจกับฝูงปลาแก่ผู้ที่ไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะปลาพลวงหินเหล่านี้


น้ำตกพลิ้วเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประชาชนชาวจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดอื่นๆ รวมถึงชาวต่างชาติรู้จักกันดี และไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจมากที่สุด รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสน้ำตกแห่งนี้หลายครั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2417-2424 และทรงยกย่องว่าเป็นน้ำตกที่งดงามที่สุดในบรรดาน้ำตกที่พระองค์เคยเสด็จ ประพาส อุทยานแห่งชาติได้จัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นอยู่ตรงข้ามที่ทำการอุทยานแห่งชาติ สิ้นสุดอยู่บริเวณด้านหน้าอลงกรณ์เจดีย์ ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง


ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง มียอดเขาสลับซับซ้อนสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 20-924 เมตร ค่อยๆ ลาดลงทางทิศใต้ มีที่ราบแคบๆ ทั่วไปบริเวณไหล่เขา พื้นที่มีความลาดชันสูง จุดสูงสุดของพื้นที่อยู่ที่ยอดเขามาบหว้ากรอก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 924 เมตร ลักษณะทางธรณีวิทยาส่วนใหญ่เป็นหินอัคนีประเภทหินแกรนิต ในบริเวณตอนกลางของพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อนที่ ประกอบไปด้วยป่าดงดิบที่สมบูรณ์ ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยตาโบ คลองโป่งแรด คลองนารายณ์ คลองสระบาป คลองคมบาง คลองนาป่า คลองพลิ้ว คลองน้ำแห้ง คลองหนองเสม็ด คลองตะปอนน้อย คลองตะปอนใหญ่ คลองขลุง คลองเคล คลองตรอกนอง และคลองมะกอก กระจายอยู่รอบพื้นที่


ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน อากาศจะค่อนข้างร้อน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะมีฝนตกชุกปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 3,000 มม./ปี และระหว่างเดือนพฤศจิกายน- กุมภาพันธ์ อากาศจะเย็นสบายที่สุด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 26 องศาเซลเซียส

(กล้วยไม้เหลืองจันทบูร)


พืชพรรณและสัตว์ป่า

สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าดงดิบชื้นที่สมบูรณ์ จัดอยู่ในเขตพฤกษศาสตร์อินโดไชน่าเนื่องจากอิทธิพลของทะเล มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ พุงทะลาย เคี่ยมคะนอง กระบกกรัง พนอง ตะเคียนหิน ยางแดง กฤษณา ตาเสือ พะวา ชะมวง จิกดง ปออีเก้ง และขนุนป่า ฯลฯ พืชพื้นล่างขึ้นปกคลุมพื้นป่าอีกหลายชนิด เช่น หัสคุณ ฆ้อนตีหมา แก้มขาว หวายลิง กะพ้อ ระกำ เต่าร้าง ไผ่ซี้ เร่วป่า ปุดใหญ่ และกระทือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพืชอิงอาศัยหลายชนิดเกาะอยู่ตามลำต้นและกิ่งก้าน ได้แก่ ชายผ้าสีดา กระแตไต่ไม้ ข้าหลวงหลังลาย เกล็ดนาคราช และกล้วยไม้นานาชนิด เช่น กะเรกะร่อน เหลืองจันทบูร และเอื้องมัจฉา ไม้เถาเลื้อยที่พบ ได้แก่ พญาปล้องทอง เถาคัน พญาเท้าเอว แสลงพันเถา หวายกำพวน หวายขริง และหวายเล็ก ฯลฯ

(ตัวลั้ง พบเจอได้ในบริเวณน้ำตกพลิ้ว)

เนื่องจากสภาพป่าของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วมีลักษณะเป็นผืนป่าธรรมชาติโดด เดี่ยวคล้ายป่าเกาะที่ถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนที่อยู่อาศัย ไม่มีผืนป่าธรรมชาติแห่งอื่นที่ต่อเนื่องหรือใกล้เคียง ประกอบกับพื้นที่มีขนาดไม่มากนัก ความหลากหลายของสัตว์ป่าในพื้นที่จึงมีน้อย ที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ เลียงผา หมูป่า อีเห็นข้างลาย ลิงกัง ชะนีมงกุฎ ลิ่นชวา อีเห็นข้างลาย กระแตเหนือ กระรอกแดง ค้างคาวเล็บกุด ค้างคาวปีกถุงต่อมคาง หนูฟานเหลือง เป็ดแดง ไก่ป่า นกหกเล็กปากแดง นกกระปูดใหญ่ นกเด้าลมหลังเทา นกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาล นกขมิ้นน้อยสวน นกเขียวคราม นกปรอดทอง นกแซงแซวหางปลา นกกินแมลงอกเหลือง นกกระจิบสวน นกกางเขนดง นกกินปลีคอแดง นกสีชมพูสวน ตุ๊กแกป่าตะวันออก จิ้งจกหางแบน กิ้งก่าบินปีกสีส้ม จิ้งเหลนหลากหลาย ตะกวด ลั๊งหรือตะกอง งูลายสาบเขียวขวั้นดำ งูเขียวหัวจิ้งจกป่า คางคกบ้าน กบอ่อง เขียดตะปาด และอึ่งอ่างบ้านฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลาสร้อยขาว ปลากดหิน ปลาค้อ ปลาจิ้งจก ปลาพลวงหิน ปลากระทิง ปลาสร้อยลูกกล้วย เป็นต้น


อลงกรณ์เจดีย์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อม ด้วยพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีอัครมเหสี ได้ทรงโปรดปรานให้สร้างเจดีย์ทำด้วยศิลาแลงขึ้นที่บริเวณหน้าผาด้านหน้า น้ำตกพลิ้วเมื่อ พ.ศ. 2419 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้วด้วยกัน และพระราชทานนามว่า " อลงกรณ์เจดีย์ " พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดน้ำตกพลิ้วเป็นอย่างยิ่งและ ได้เสด็จประพาสหลายคราว ทรงโปรดมากถึงกับมีพระราชดำรัสว่า " เราได้เห็นน้ำตกอย่างนี้มาสองสามแห่ง คือที่ปีนัง เกาะช้าง และสีพยา เห็นไม่มีที่ไหนจะงามกว่าที่นี่เลย ถ้าจะให้เรานั่งดูอยู่ยังค่ำก็แทบจะได้ด้วยเย็นสบายจริง "


สถูปพระนางเรือล่ม
อยู่ในบริเวณน้ำตกพลิ้ว สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2424) เพื่อเป็นที่ระลึกแก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวี ภายในสภูปพระนางเรือล่มบรรจุพระอังคารของพระนางเจ้าฯด้วย เนื่องจากพระองค์ท่านเคยเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้วเมื่อ พ.ศ. 2417 และทรงโสมนัส ชื่นชม ความงามธรรมชาติของน้ำตกพลิ้วยิ่งนัก การที่ทรงโปรดให้สร้างอนุเสาวรีย์รูปปิรามิดก็ด้วยทรงพระราชดำริว่า " ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนภาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพรอันไม่มีผู้ดูแล ฉะนั้นเมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็คงจะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว "

ขอขอบคุณรูปภาพจากหลากหลายที่มาครับ