วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

จ.จันทบุรี (Chantaburi)

จังหวัดจันทบุรี 

เป็นจังหวัดทางชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย ทิศเหนือติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา และสระแก้ว ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดตราดและราชอาณาจักรกัมพูชา ทิศใต้ติดกับอ่าวไทย และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดระยองและชลบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 245 กิโลเมตร สภาพพื้นที่มีทั้งป่าไม้ ภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบลุ่มน้ำ และที่ราบชายฝั่งทะเล


ตำนานและความเป็นมา จันทบุรีเป็นเมืองเก่าจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เชื่อกันว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี สร้างขึ้นโดยชนชาติ ชอง บางตำนานก็ว่าสร้างโดยชนชาติ ขอม หัวเมืองเดิมตามศิลาจารึกเรียกว่า "ควนคราบุรี" ชาวพื้นเมืองเรียกว่า "เมืองกาไว" ตามชื่อผู้ปกครอง


เมืองจันทบุรีเดิมตั้งอยู่บริเวณหน้าเขาสระบาป มีชนพื้นเมืองเดิมอาศัยอยู่เรียกว่า ชาวชอง มีภาษาพูดเป็นภาษาของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากภาษาไทยและภาษาเขมร เจ้าผู้ครองเมืองที่ยิ่งใหญ่ในตำนานคือ พระเจ้าพรหมทัต (พ.ศ. 1349-1399)



ครั้นถึงปี พ.ศ. 1800 ได้มีการย้ายถิ่นฐานมาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านหัววัง ตำบลพุงทลาย ซึ่งอยู่ใกล้กับแม่น้ำจันทบุรีในปัจจุบัน ต่อมาปี พ.ศ. 2200 ได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่ม อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี


ในปี พ.ศ. 2310 หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงให้แก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีเพื่อใช้เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและรวบรวมกำลังพลในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า ในคราวนั้นเจ้าเมืองจันทบุรีนามว่าเจ้าขรัวหลาน(ยศเจ้าเมืองจันทบุรีเดิม) ชึ่งราษฎรเลือกขึ้นเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา โดยหวังว่าพระยาจันทบูรณ์จะช่วยปกป้องรักษาเมืองจันทบุรีให้อยู่รอดสืบต่อไป ได้ต่อต้านกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เมืองจันทบุรีอยู่รอดเป็นอิสระ รักษาแผ่นดินไว้ให้ชนชาติบูรพา แต่สุดท้ายก็ต้องปราชัยพ่ายแพ้แก่กองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยพระองค์ทรงใช้พญาช้างศึกบุกชนกำแพงเมืองจนสามารถเข้าตีเมืองเอาไว้ได้สำเร็จ เจ้าเมืองจันทบุรีได้หลบภัยไปอาณาจักรกัมพูชาจนถึงแก่อสัญกรรม เมืองจันทบุรีจึงตกเป็นของสยามนับแต่นั้นเป็นต้นมา


ต่อมาในปี พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้นานถึง 11 ปี เนื่องจากไทยมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยฝรั่งเศสกล่าวหาว่าไทยล่วงล้ำดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่วนไทยได้อ้างว่าดินแดนดังกล่าวเป็นของไทย ฝ่ายไทยเห็นว่าจะต่อสู้ทางทหารฝรั่งเศสไม่ได้จึงขอเปิดการเจรจา ทางฝรั่งเศสยื่นคำขาด โดยฝ่ายไทยต้องยอมยกดินแดนที่เป็นข้อพิพาทรวมทั้งเกาะทั้งหมดในลำน้ำโขง พร้อมเงินอีกหนึ่งล้านฟรังก์และสามล้านบาท โดยจนกว่าจะดำเนินการเสร็จฝรังเศสจะยึดเมืองจันทบุรีไว้ก่อน แต่เมื่อทางไทยดำเนินการเสร็จ ฝรั่งเศสไม่ได้ถอนกำลังออก ฝ่ายไทยจึงต้องยอมยกเมืองตราดและเมืองประจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง) เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี และอีกหนึ่งปีต่อมาไทยยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เพื่อแลกเมืองตราดคืนมา แต่ฝรั่งเศสไม่ได้คืนเมืองประจันตคีรีเขตร์แต่อย่างใด ปัจจุบันเมืองประจันตคีรีเขตร์จึงอยู่ในการปกครองของราชอาณาจักรกัมพูชา


ต่อมามีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล จัดตั้งมณฑลจันทบุรี โดยมีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราดอยู่ในเขตการปกครองจนถึงปี พ.ศ. 2476 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงยกเลิกมณฑลเทศาภิบาลและได้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยแบ่งออกเป็นจังหวัดและอำเภอ ดังนั้นเมืองจันทบุรีจึงมีฐานะเป็นจังหวัดจนถึงปัจจุบันนี้

ภูมิศาสตร์

จังหวัดจันทบุรีตั้งอยู่บนพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 12-13 องศาเหนือ และเส้นแวงที่ 101-102 องศาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 245 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 6,338 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,961,250 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 16.6 ของพื้นที่ภาคตะวันออก และเท่ากับร้อยละ 1.8 ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ ทิศเหนือ ติดจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสระแก้ว ทิศตะวันออก ติดจังหวัดตราดและราชอาณาจักรกัมพูชา ทิศใต้ ติดอ่าวไทย ทิศตะวันตก ติดจังหวัดระยองและจังหวัดชลบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ 

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก เป็นป่าไม้ ภูเขา และที่ราบสูงเป็นส่วนใหญ่ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 30-190 เมตร ทิศใต้เป็นชายฝั่งทะเลมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม บางแห่งเป็นอ่าวแหลมและหาดทราย สูงจากระดับน้ำทะเล 30-190 เมตร พื้นที่จังหวัดจันทบุรี แยกลักษณะภูมิประเทศออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ ภูเขาสูงและเนินเขา ที่ราบสูงและที่ราบเชิงเขา ที่ราบลุ่มน้ำและที่ราบชายฝั่งทะเล


ลักษณะภูมิอากาศ สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปจังหวัดจันทบุรีตั้งอยู่ในเขตที่มีอากาศร้อนชื้น มีฝนตกชุกติดต่อกันประมาณ 6 เดือนต่อปี และในปี พ.ศ. 2542 มีฝนตกจำนวน 182 วัน วัดปริมาณน้ำฝนโดยรวม 3,509.40 มิลลิเมตร และเดือนที่มีอุณหภูมิต่ำสุดในรอบปี คือเดือนธันวาคม วัดได้ 13.10 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 28.46 องศาเซลเซียส ประกอบด้วย 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ฤดูหนาว ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์


หน่วยการปกครอง การปกครองแบ่งออกเป็น 10 อำเภอ 76 ตำบล 690 หมู่บ้าน 

  • อำเภอเมืองจันทบุรี 
  • อำเภอขลุง 
  • อำเภอท่าใหม่ 
  • อำเภอโป่งน้ำร้อน 
  • อำเภอมะขาม 
  • อำเภอแหลมสิงห์ 
  • อำเภอสอยดาว
  •  อำเภอแก่งหางแมว 
  • อำเภอนายายอาม 
  • อำเภอเขาคิชฌกูฏ


สัญลักษณ์ประจำจังหวัด สัญลักษณ์ประจำจังหวัด คือ รูปดวงจันทร์และกระต่าย ดวงจันทร์และแสงจันทร์ หมายถึง ความสวยงามสงบเงียบ และเย็นสบายของภูมิภาคนี้ รูปกระต่ายเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของดวงจันทร์ ซึ่งชาวไทยโดยทั่วไปเชื่อว่ามีอยู่เช่นนั้นมาแต่ดึกดำบรรพ์



ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกเหลืองจันทบูร 



ต้นไม้ประจำจังหวัด 

  • 1 ต้นสำรองหรือพุงทะลาย (Scaphium macropodium ) 
  • 2 จัน (Diospyros decandra) 



ตลาดอัญมณี  เมืองจันท์ขึ้นชื่อเื่รื่องซื้อขายส่งออกพลอย และเป็นแหล่งศูนย์รวมพลอยหลากหลายชนิดทั่วทุกมุมโลก

สถานศึกษา


  • มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี 
  • มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสารสนเทศจันทบุรี
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี
  • สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์จันทบุรี) 
  • มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (ศูนย์วิทยพัฒนาจันทบุรี) 

โรงเรียน 

โรงเรียนประจำจังหวัดจันทบุรี ได้แก่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จันทบุรี และโรงเรียนศรียานุสรณ์ โดยในสมัยอดีต ได้แบ่งแยกเป็นโรงเรียนชายประจำจังหวัดและโรงเรียนหญิงประจำจังหวัด แต่ในปัจจุบันได้กลายเป็นโรงเรียนสหศึกษาทั้งสองโรงเรียนแล้ว ที่ตั้งของโรงเรียนทั้งสองนั้นอยู่ใกล้กันโดยมีถนนเส้นหนึ่งตัดผ่าน นอกจากนี้อยู่ใกล้กับโรงเรียนอื่นๆเช่น โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ และโรงเรียนสฤษดิเดช เป็นต้น

การคมนาคมขนส่ง การเดินทางสู่จังหวัดจันทบุรีมีเส้นทางดังนี้ 

เส้นทางสายกรุงเทพฯ–ชลบุรี–พัทยา–บ้านฉาง–ระยอง–จันทบุรี โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร

เส้นทางสายกรุงเทพฯ–ชลบุรี–ศรีราชา–บ้านฉาง–ระยอง–จันทบุรี โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 (ถนนเมืองพัทยา-ระยอง) ระยะทางประมาณ 289 กิโลเมตร

เส้นทางสายกรุงเทพฯ–ชลบุรี–แกลง–จันทบุรี โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 344 (ถนนชลบุรี-แกลง) ระยะทางประมาณ 249 กิโลเมตร

 เส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านปราจีนบุรี ผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 (ถนนสุวรรณศร) เข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 317 (ถนนจันทบุรี-สระแก้ว) ผ่านอำเภอสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอมะขาม เข้าสู่จังหวัดจันทบุรี

เส้นทางจันทบุรี–ตราด ระยะทาง 78 กิโลเมตร เส้นทางจันทบุรี–ระยอง ระยะทาง 103 กิโลเมตร เส้นทางจันทบุรี–ชลบุรี ระยะทาง 155 กิโลเมตร

สินค้าพื้นเมือง 

ผลไม้ เป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัดจันทบุรี ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ระกำหวาน ในช่วงฤดูผลไม้จะมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวและซื้อหาผลไม้รสอร่อยราคาย่อมเยาคุณภาพดีที่จังหวัดจันทบุรี



เสื่อจันทบูร หัตถกรรมพื้นบ้านอีกชนิดที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ผลิตจากกก ได้มีการนำเอากกมาดัดแปลงเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ มากมาย



พริกไทย จันทบุรีเป็นแหล่งปลูกพริกไทยที่สำคัญของประเทศไทยเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี



ก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์ นับเป็นสินค้าพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์อีกสิ่งหนึ่งของจังหวัด เหมาะที่จะซื้อเป็นของที่ระลึกเมื่อมาเที่ยวจังหวัดจันทบุรี


 อัญมณี เป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัด นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายอัญมณีบนถนนอัญมณีในวันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์

สถานที่ท่องเที่ยว  


  • อุทยานแห่งชาติทางบก 
  • อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ 
  • อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น 
  • อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว 
  • อุทยานแห่งชาติน้ำตกเขาสอยดาว 
  • วนอุทยานแห่งชาติ 
  • วนอุทยานแห่งชาติแหลมสิงห์

คำขวัญ ประจำจังหวัดจันทบุรี 

น้ำตกลือเลื่อง เมืองผลไม้ พริกไทยพันธุ์ดี 
อัญมณีมากเหลือ เสื่อจันทบูร สมบูรณ์ธรรมชาติ 
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมญาติกู้ชาติที่จันทบุรี
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอขอบคุณที่มาข้อมูลและรูปภาพทุกที่มาครับ



-----------------------------------------------------------------------------------------------------